Lecture

 การออกแบบเว็บไซต์
                               
การออกแบบเว็บไซต์นั้นไม่ได้หมายถึงลักษณะหน้าตาของเว็บไซต์เพียงอย่างเดียว  แต่เกี่ยวข้องตั้งแต่การเริ่มต้นกำหนดเป้าหมายของเว็บไซต์  ระบุกลุ่มผู้ใช้  การจัดระบบข้อมูล  การสร้างระบบเนวิเกชัน  การออกแบบหน้าเว็บ  รวมไปถึงการใช้กราฟิก  การเลือกใช้สี  และการจัดรูปแบบตัวอักษร  นอกจากนั้นยังต้องคำนึงถึงความแตกต่างของสื่อกลางในการแสดงผลเว็บไซต์ด้วย  สิ่งเหล่านี้ได้แก่  ชนิดและรุ่นของบราวเซอร์  ขนาดของหน้าจอมอนิเตอร์  ความละเอียดของสีในระบบ  รวมไปถึง Plug-in  ชนิดต่าง ๆ  ที่ผู้ใช้มีอยู่  เพื่อให้ผู้ใช้เกิดความสะดวกและความพอใจที่จะท่องไปในเว็บไซต์นั้น  ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างในเว็บไซต์ทั้งที่คุณมองเห็นและมองไม่เห็นล้วนเป็นผลมาจากกระบวนการออกแบบเว็บไซต์ทั้งสิ้น
เว็บไซต์ที่ดูสวยงามหรือมีลูกเล่นมากมายนั้น  อาจจะไม่นับเป็นการออกแบบที่ดีก็ได้  ถ้าความสวยงามและลูกเล่นเหล่านั้นไม่เหมาะสมกับลักษณ์ของเว็บไซต์  ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องยากที่จะระบุว่าการออกแบบเว็บไซต์ที่ดีนั้นเป็นอย่างไร  เนื่องจากไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอนที่จะใช้ได้กับทุกเว็บไซต์  แนวทางการออกแบบบางอย่างที่เหมาะสมกับเว็บไซต์หนึ่ง    อาจจะไม่เหมาะกับอีกเว็บไซต์หนึ่งก็ได้  ทำให้แนวทางในการออกแบบของแต่ละเว็บไซต์นั้นแตกต่างกันไปตามเป้าหมายและลักษณะของเว็บไซต์นั้น  เว็บไซต์บางแห่งอาจต้องการความสนุกสนาน  บันเทิง  ขณะที่เว็บอื่นกลับต้องการความถูกต้อง  น่าเชื่อถือเป็นหลัก  ดังนั้นอาจสรุปได้ว่าการออกแบบที่ดีก็คือ  การออกแบบให้เหมาะสมกับเป้าหมายและลักษณะของเว็บไซต์  โดยคำนึงถึงความสะดวกในการใช้งานของผู้ใช้เป็นหลัก

ออกแบบให้ตรงกับเป้าหมายและลักษณะของเว็บไซต์
เว็บไซต์แต่ละประเภทต่างมีเป้าหมายและลักษณะที่แตกต่างกัน  ตัวอย่างเช่น  เว็บไซต์ที่เป็น Search Engine  ซึ่งเป็นแหล่งรวมที่อยู่ของเว็บไซต์ต่าง ๆ  ทำหน้าที่เป็นประตูไปสู่เว็บไซต์อื่น ๆ  เว็บไซต์ประเภทนี้มีเป้าหมายที่จะให้ข้อมูลที่ผู้ใช้ต้องการอย่างรวดเร็ว  และจะมีผู้เข้ามาใช้บริการค้นหาข้อมูลเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน  ดังนั้นสิ่งที่สำคัญในการออกแบบเว็บไซต์ประเภทนี้ก็คือสามารถแสดงหน้าเว็บอย่างรวดเร็ว  เมื่อผู้ใช้เปิดเข้ามาและมีระบบสืบค้นข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ  เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่รวดเร็ว
สำหรับเว็บเพื่อความบันเทิงหรือเกี่ยวข้องกับศิลปะนั้น  ผู้ใช้มักคาดหวังที่จะได้พบกับสิ่งที่น่าตื่นเต้น  เรื่องราวที่สนุกสนาน  เพลิดเพลิน  หรืออาจจะได้เรียนรู้สาระบางอย่างบ้าง  ความสำคัญในการออกแบบเว็บไซต์เหล่านี้จึงมีมากพอกับเนื้อหาภายในเว็บไซต์  ส่วนเว็บทั่วไปที่ให้บริการข้อมูล  ซึ่งไม่ได้มีเป้าหมายที่จะให้ความบันเทิง  ควรจะมีการจัดข้อมูลอย่างเป็นระบบและมีรูปแบบที่เข้าใจง่าย  เพื่อทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว

กระบวนการพัฒนาเว็บไซต์

การจัดระบบโครงสร้างข้อมูล (Information Architecture)
               ในกระบวนการพัฒนาเว็บไซต์ที่กำลังจะได้ศึกษาต่อไปนี้ได้อาศัยหลักการจัดระบบโครงสร้างข้อมูลที่เรียกว่าInformation Architecture  อยู่ในหลาย ๆ  ส่วน  ตั้งแต่ขั้นแรกจนถึงขั้นที่ได้เป็นรูปแบบโครงสร้างสุดท้าย (Final Architecture Plan)  ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่สำคัญมากที่จะทำให้เว็บไซต์บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
                การจัดระบบโครงสร้างข้อมูล  คือ  การพิจารณาว่าเว็บไซต์ควรจะมีข้อมูลและการทำงานใดบ้าง  ด้วยการสร้างเป็นแผนผังโครงสร้างก่อนที่จะเริ่มลงมือพัฒนเว็บเพจ  โดยเริ่มจากการกำหนดเป้าหมายเว็บไซต์  และกลุ่มผู้ใช้เป้าหมาย  ต่อมาก็พิจารณาถึงเนื้อหาและการใช้งานที่จำเป็น  แล้วนำมาจัดกลุ่มให้เป็นระบบ  จากนั้นก็ถึงเวลาในการออกแบบโครงสร้างข้อมูลในหน้าเว็บ  ให้พร้อมที่จะนำไปออกแบบกราฟิก  และหน้าตาให้สมบูรณ์ต่อไป
                การจัดทำระบบโครงสร้างข้อมูลเป็นพื้นฐานสำคัญในการออกแบบเว็บไซต์ที่ดี  ที่จะช่วยพัฒนาแบบแผนรายละเอียดข้อมูลในการออกแบบเว็บไซต์  ซึ่งได้แก่  รูปแบบการนำเสนอ  ระบบการทำงาน  แบบจำลอง  ระบบเนวิเกชัน  และอินเตอร์เฟสของเว็บ  ดังนั้นการจัดระบบโครงสร้างข้อมูลจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เกี่ยวข้องอยู่ในกระบวนการออกแบบเว็บไซต์
ออกแบบเนวิเกชันสำหรับเว็บ

 ความสำคัญของระบบเนวิเกชัน
                                        การเข้าถึงข้อมูลอย่างสะดวกเป็นหัวใจสำคัญของระบบเนวิเกชั่น การมีเนื้อหาในเว็บไซท์ที่ดีจะเป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้ใช้เข้ามาใช้บริการอย่างสม่ำเสมอแต่เนื้อหานั้นจะไม่มีประโยชน์เลยถ้าผู้ใช้ค้นหาสิ่งที่ต้องการไม่พบ ความสำเร็จของเว็บไซท์ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้ใช้สามารถพึ่งพาระบบเนวิเกชั่นในการนำทางไปถึงที่หมายได้
ระบบเนวิเกชั่นนั้นอาจประกอบด้วยองค์ประกอบหลายๆ อย่าง เช่นเนวิเกชันบาร์ หรือ pop-up menu ซึ่งมักจะมีอยู่ในทุกๆ หน้าของเว็บเพจ และอาจอยู่ในหน้าเฉพาะที่มีรูปแบบป็นระบบสารบัญ ระบบดัชนี หรือ site map ที่สามารถให้ผู้ใช้คลิกผ่านโครงสร้างข้อมูลไปยังส่วนอื่นๆได้ การเข้าใจถึงรูปแบบและองค์ประกอบของระบบเนวิเกชั่นเหล่านี้ จะทำให้คุณออกแบบระบบเนวิเกชันด้วยองค์ประกอบที่เหมาะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพ